31 มีนาคม 2555

คุณหมอของเรา [3rd]


พฤหัส ที่ 1 มีนาคม 2555 วันหมอนัดค่ะ

กว่าจะไปถึง ลงรถกันกลางถนน ต่อพี่วินซิ่งไปรามาฯกันเลย
อยู่ๆวันนั้นรถติดผิดปกติ ทั้งๆที่ตื่นตั้งแต่ตี5  - -"
แล้วของเรานัดเป็นคิวแรกด้วย หน้าซีดเหลือ 2 นิ้วอีกละ

เข้าห้องตรวจห้องนี้ จะผิดกับสองครั้งก่อน
(มีผลต่อความรู้สึกเหมือนกันนะคะ)
ก่อนหน้านี้ จะนั่งตรงข้ามคุณหมอ
แต่ห้องนี้ เค้าเอาหน้ากว้างของโต๊ะติดกำแพง
ก็เลยไม่ได้นั่งตรงข้ามกับคุณหมอ แต่นั่งเป็นรูปตัวแอล L
รู้สึกเกร็งๆนิดนึง เพราะนั่งใกล้คุณหมอมาก
แต่ก็รู้สึกสนิทขึ้น เหมือนเป็นเพื่อน

กลายเป็นว่าตอนนี้คนสนิทมากของเรา มี 3 คน
คือ แฟนเรา เพื่อนรุ่นพี่ และ คุณหมอของเรา

คุณหมอถามอาการทั่วไป เช่น เวลานอน เวลาตื่น
แล้วก็ถามประมาณว่า มันมีกระตือรือร้นแบบเว่อร์บ้างมั๊ย
" นั่นแน่ >_< เช็คว่าเป็น Bipolar Disorder ชิมิ "
อันนี้แอบคิดนะคะ

เราก็อธิบายไปว่า เวลามันดี มันจะเรื่อยๆ ไม่ได้พุ่ง
แต่เวลามันตก มันจะดิ่งวูบไปเลย กว่าจะขึ้นมันยากมาก
ก็ทำมืออธิบายไปด้วย เหมือนกราฟหุ้นเลย

เราเริ่มเล่าเรื่องขว้างของ เพราะตลอดมาเราไม่ได้เล่า
จริงๆแล้วเราเพิ่งนึกออกด้วยซ้ำ หลังจากรักษานี่แหละ
ว่าทำไมอยู่ๆ เราถึงกลายเป็นคนขว้างของไปได้
เริ่มจากปีที่แล้วเลย สังเวยไปก็มี ถ้วยกาแฟ มือถือ เม้าส์
แล้วก็หยิบของมาฟาดแฟนเรา แต่เป็นของเบาๆ อย่างผ้าห่มอะไรแบบนี้

คุณหมอฟังแล้วนิ่งนะ ถามเราว่า เรากลัวอะไรเหรอ
กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หยิบของที่ทำอันตรายคนอื่นเหรอ
เราก็นิ่งซักพัก แล้วบอกว่า ส่วนนึงก็น่าจะใช่ เพราะเราหยิบของใกล้มือทันที
แบบไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่ามันคืออะไร
อย่างผ้าห่มที่ว่า เพราะมันอยู่ในตะกร้าผ้าจะซัก ซึ่งเรายืนตรงนั้นพอดี
เราก็คว้าปุ๊บเลย ซึ่งเคยมีก่อนหน้านี้ เราเคยคว้าอย่างอื่นเหมือนกันที่อยู่ใกล้มือ
คุณหมอพูดอะไรต่อ เราจำไม่ค่อยได้  รู้แต่คุณหมอไม่ได้อะไรกับเรื่องนี้นัก
กลับทำให้เราสบายใจที่ไม่มีคำแนะนำนะ
จำได้แต่มีประโยคนึงคุณหมอพูดว่า " คงเก็บไว้เยอะนะครับ "
อืม จริงเลยนะ

แล้วเราก็เล่าต่อเรื่องที่แฟนเรามานั่งฟังเราพูด
ที่เคยเล่าไปแล้วในโพสต์ ขยะใต้พรม
คุณหมอตั้งใจฟังมาก มองตา พยักหน้าบ้าง และยิ้มเล็กๆไปด้วย
เราก็บอกว่า มันแปลกมากเลย เราลืมบางเรื่องไปหมดแล้ว
ให้มานึกวันนี้เราคงนึกไม่ออกหลายเรื่องว่าพูดอะไรไปบ้าง
ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่สะสมมานานปี ไม่น่าจะลืมกันง่ายๆ

คุณหมอบอกเราว่า

จริงๆเราไม่ได้ติดใจใน "เรื่องราว" ที่เกิดขึ้น 
ที่ยังติดคือ "ความรู้สึก"
ถ้าจัดการ "ความรู้สึก" ได้ 
"เรื่องราว" ก็หายไปเอง 

เรานั่งอึ้งไปหลายวินาที ตะลึงงัน
นี่คือบทสรุปที่ถูกต้องที่สุดที่เราเป็น แต่เราพูดออกมาแบบนี้ไม่ได้
เราให้อภัยคนไม่ยากนะ แต่ที่มันยังติดอะไรบางอย่างอยู่
ทำให้ค้างคาใจมากมายถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ให้อภัยไปแล้ว

คุณหมอบอกว่า เราต้องการคนที่รับฟังเราจริงๆ
ฟังแบบพยายามทำความเข้าใจความรู้สึก
ไม่ใช่แค่ฟังผ่านๆ ได้ยินเสียง
(ประมาณนั้นนะคะ จำไม่หมด)

แล้วคุณหมอบอกว่า
เราเป็นคนประเภทความรู้สึกเยอะ ความรู้สึกนำ ..
งั้นก็ให้จัดการอะไรๆไปตามความรู้สึกน่ะดีแล้ว บางครั้งไม่ต้องไปหาเหตุผล
(ประมาณนี้แหละ) เรานั่งอึ้งอีกรอบ - -"
แล้วคุณหมอก็อธิบายเรื่องประเภทคนอย่างที่คุณหมอบอกเราเนี่ยะแหละ
แต่เราจำไม่ได้หรอก มันอึ้งๆอยู่

คุณหมอกลายมาเป็นกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นเราออกมา
เราเป็นแบบที่คุณหมอบอกจริงๆ ..

แล้วเราก็คุยกันต่อ เกี่ยวกับการใช้คำพูดกับคน
เป็นการพูดเรื่องเดียวกัน โดยใช้คำพูดคนละแบบ
ซึ่งคุณหมอสมมติตัวเอง แล้วพูดกับเรา
ให้ตายเหอะ..คุณหมอไปเรียนแอคติ้งกับหม่อมน้อยมารึเปล่า
เข้าถึงจิตวิญญาณมาก เหมือนเป็นคนๆนั้นจริงๆ

ตอนที่คุณหมอ อยู่ในสถานการณ์แรก
เราอึดอัด อยากเฟดหนีเลย ถึงขนาดนั่งเอาเล็บจิกมือตัวเอง
และอยากให้คุณหมอหยุดพูดซะที
แต่พอในสถานการณ์ที่สอง
เรารู้สึกสงสารคุณหมอจับใจ รู้สึกมาจากข้างในเลย

แอบกลัวๆคุณหมอนิดนึงนะเนี่ยะ ก็คุณหมออินกับบทบาทมากเลย >_<

แล้วก็คุยเรื่องทั่วๆไปนิดหน่อย คุณหมอก็เขียนใบสั่งยา
และกำหนดวันนัด ซึ่งครั้งนี้ 4 สัปดาห์เลยทีเดียว
วันนั้นคือ 1 มีนา นัดอีกครั้งคือ 29 มีนา

เราไปยื่นใบสั่งยาที่คุณหมอเขียนวันนัดให้คุณพยาบาล
ตรงที่ระบุว่า ออกใบนัด
รออยู่ซักพัก คุณหมอเดินมาหา แล้วบอกว่า
หมอลืมบอกไปว่า หมอปรับยา คราวนี้ให้กินครั้งละ 2 เม็ด  O_o
เราเลยถามหมอกลับไปว่า จริงๆแล้วเราควรกินยากี่โมงดี
คือ ในนั้นระบุให้กินก่อนนอน
คุณหมอถามกลับว่า กินแล้วง่วงมั๊ย
เราตอบว่าไม่ง่วงเลย คุณหมอบอกว่า "งั้นกินช่วงเย็นๆก็ได้ครับ"

เรารับบัตรนัดครั้งต่อไป แล้วลงไปห้องจ่ายยาด้านล่าง
ยื่นใบสั่งยา รอเรียกคิวให้ไปจ่ายเงิน และรับยา

คราวนี้ช็อค(เล็กๆ)อีกรอบ

ต่อโพสต์ต่อไปนะคะ
>_<


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->  มาเป็นกล่องเลย


30 มีนาคม 2555

ทรงๆทรุดๆ


หลังจากพบหมอครั้งที่ 2 และกินยาตัวเดิมต่อ
ผลข้างเคียงของยาก็เหลือแค่คลื่นไส้บ้าง
แบบพอทนไหว แล้วก็กัดฟัน
แต่มักจะเพลียมากเป็นบางวัน
อันนี้เป็นอาการของโรครึเปล่าก็ไม่แน่ใจนะคะ

แต่ก็มีรู้สึกสดชื่นอยู่บ้าง 2-3 วัน
แล้วก็ทรงๆเหมือนเดิม

ช่วงเวลาตรงนี้
ที่ไม่ต้องทรมานกับผลข้างเคียงของยาแบบหนักหนา
ทำให้พยายามทำความคิดที่อยากจะทำBlogนี้ให้เป็นจริง
แต่มันก็ไม่ง่ายนัก ยังไม่รู้จะทำออกมาในรูปแบบไหน

ก็เลยเสริซข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอ่านไปเรื่อยๆ
แต่ก็เป็นข้อมูลเดิมๆ ส่วนใหญ่copyกันมา
อ่านไปมากมายแล้วช่วงที่ช็อคกับยาที่คุณหมอให้
เลยอ่านเรื่องโรคทางจิตเวชอื่นๆเพิ่มเติมด้วย
ทำให้ได้ทำความรู้จักกับ Bipolar Disorder
ก็แอบระแวงนิดๆ ว่าตัวเองจะเป็นรึเปล่า
กลัวมันพัฒนาไปจริงๆ
แต่ทบทวนดูแล้ว เราก็ทรงๆทรุดๆ
วันที่โอเค สดชื่น มันไม่ได้พุ่งขึ้นสูงอะไรเลย
แค่มันไม่แย่มากเท่านั้นเอง

กลายเป็นว่า ต้องคอยสังเกตตัวเองเพิ่มขึ้น
เวลาจะสุข ก็เอ๊ะ นี่เราสุขเว่อร์ไปรึเปล่า
จนกลายเป็นความกังวลใจเพิ่มขึ้นมาอีกนิด
เพราะดูแล้ว  Bipolar Disorder
น่าจะรักษายากพอสมควรทีเดียว

อ่านไปเรื่อยเปื่อย เว็บไซต์ภาษาไทยชักน้อยลงเรื่อย
ไหนเลย ลองเสริซโรคซึมเศร้าเป็นภาษาอังกฤษบ้างซิ
พิมพ์ Depression แล้วนั่งไล่เปิดดู อู๊ววววว!
มีเยอะมาก ข้อมูลเพียบ จัดหน้าดี กราฟฟิคสวย
อ่านเพลินเลย บางเว็บทำเป็นการ์ตูนด้วย น่ารักดี

จริงๆก็ไม่ได้อ่านภาษาอังกฤษคล่องอะไรนัก
ยิ่งมีศัพท์ทางการแพทย์อีก
แต่เว็บเค้าทำให้น่าอ่าน เดาศัพท์ผ่านๆได้ก็ผ่านไป
ถ้าไม่ไหวก็เปิดดิกเอา

และช่วงนี้ก็เริ่มทำBlogนี้
แต่ยังไม่มีสมาธิทำอะไรได้มากนัก นอกจากเลือกเทมเพลต
เซ็ทนู่นนี่ ลงมือเขียนจริงไม่ได้ซักที

ช่วงใกล้ถึงวันนัด ที่จะได้เจอคุณหมอเป็นครั้งที่ 3
มีอาการนอนไม่ค่อยหลับอยู่ 2-3 วัน แต่ก็พอทน
เพราะไม่ไปหลับเอาตี4ตี5 ก็ยังใจชื้นอยู่


ในที่สุดก็มาถึงโพสต์ที่จะได้พบคุณหมอครั้งที่ 3 ซะที
รออัพBlogเรื่องนี้มานานแล้วค่ะ

^_^



+ + + + + + + + +

อ่านต่อ --->  คุณหมอของเรา [3rd]



29 มีนาคม 2555

ฝึกสมาธิ(ไม่ได้)

หลังจากหมอนัดครั้งที่ 2 ประมาณ 5 วัน
อยู่ๆก็ลองทำสมาธิ 
เพราะว่า ไม่สามารถทำอะไรจดจ่อได้นานเหมือนก่อน
ก็เลยคิดขึ้นมาเองว่า ไหนลองฝึกสมาธิซิ เผื่อจะช่วย

ไม่มีพิธีรีตรองอะไร อยู่ๆก็ตามลมหายใจตัวเอง 
หายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้า หายใจออก
ไม่ถึง 10 หายใจ คราวนี้แทบหายใจไม่ออกแทนค่ะ 

มันเป็นอะไรก็ไม่รู้
หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบเหนื่อย เหมือนหายใจไม่ทัน
ซึ่งเราไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหอบหืดอะไรเลย

ตอนนั้นอยู่คนเดียว นั่งก็แล้ว เอนก็แล้ว นอนก็แล้ว
ก็ไม่หาย รู้สึกเหนื่อยมากๆ ไม่สามารถหายใจเป็นปกติซะที
ไม่รู้จะทำยังไง ผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง ก็ยังเหนื่อยอยู่ 

เลยหยิบTabletมาเข้าGoogle (ทั้งสภาพอย่างนั้น)
พิมพ์ว่าหายใจหอบเหนื่อย 
เจออยู่สองกรณี ยังอ่านไม่ทันรู้เรื่องหรอกว่าเป็นอะไร
แต่เห็นกรณีนึงบอกว่า เป็นอาการหายใจเกิน
ก็ไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ คิดอะไรไม่ออก
ในนั้นบอกว่า ให้หายใจในถุงซักพัก ลองก็ลอง
คว้าถุงใกล้ตัวสุดเป็นถุงใส่นิตยสารจากร้านหนังสือใบโต -"-
ครอบปากกับจมูกไว้ แล้วก็หายใจอยู่ในนั้นซักพัก  
จนค่อยยังชั่ว ไม่รู้ว่าค่อยยังชั่วเพราะอะไรเหมือนกัน

หลังจากนั้นก็เหนื่อย ล้า และเพลียมาก
ขนาดที่วันรุ่งขึ้นตื่นมา รู้สึกเหมือนไปวิ่งมาหลายกิโล

ตอนนั้นรู้แล้วว่า เราไม่ควรคิดทำสมาธิอีก 
และก่อนหน้านั้น มีความคิดว่า จะไปออกกำลังกายช่วยอีกทาง
ด้วยการเล่นโยคะ กลายเป็นเกิดความลังเลใจขึ้นมา 
เพราะว่า การเล่นโยคะมันจะมีความเกี่ยวข้องกับการหายใจด้วย
จึงรอไปปรึกษาคุณหมอของเรา ในการพบกันครั้งที่ 3

ขอเล่าเรื่องนี้ไปเลยละกันนะคะ 
เพราะการเจอคุณหมอครั้งที่ 3 มีเรื่องมากมาย 
เกรงว่าจะยาวเกินไปสำหรับโพสต์เดียว 

เมื่อเจอคุณหมอ..เราก็เล่าเรื่องทำสมาธิ
คุณหมอบอกว่า " หมอไม่แนะนำให้ทำนะครับ "
เราจำเหตุผลไม่ค่อยได้ แต่จะออกแนวว่า
มันต้องมีการฝึกฝน มันคงไม่เหมาะกับคนที่มีอาการป่วยแบบเรา

เราเลยถามคุณหมอต่อ เรื่องเล่นโยคะ 
คุณหมอบอกว่า เล่นได้ แต่ต้องมีคนสอน 
ซึ่งเราก็คิดไว้อย่างนั้นเหมือนกัน ว่าจะมาฝึกมั่วซั่วไม่ได้แน่ๆ
เราก็หลอนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาพอสมควร
เอาเป็นว่า เรื่องออกกำลังกายคงพักไว้ก่อน ค่อยคิดว่าจะทำยังไงต่อ

อันที่จริง หลายวัน ก่อนพบคุณหมอของเราเพื่อคำตอบนี้
เราก็สืบเสาะค้นหา คนที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชคนอื่น
รวมทั้งญาติผู้ป่วยด้วย ถึงได้เข้าใจว่า ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่เป็น

สำหรับบางคนที่เคยฝึกสมาธิมาก่อนที่จะป่วย
ก็อาจจะพอไหว แต่สำหรับคนที่ไม่เคย ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้น เรายังพบว่า ผู้ป่วยจิตเวชในเมืองไทยน่าสงสารมาก
หลายคนจะถูกต่อว่า..
ให้ปลง ให้ไปศึกษาธรรมะ ไล่ไปเข้าวัด ให้ไปบวชก็มี
ทั้งที่จริงๆแล้ว เค้าเป็นผู้ป่วย
การทำแบบนั้น อาจฆ่าเค้าทั้งเป็นได้เลย

อันนี้เป็นความคิดของเราและญาติผู้ป่วยบางคนที่เราได้คุยด้วยทางinternet
การใช้หลักธรรมทางศาสนามาช่วย สามารถทำได้
แต่ควรรักษาตัวไปซักระยะนึงก่อน
มีญาติผู้ป่วยบางคนบอกว่า เอาธรรมะไปยัดใส่ผู้ป่วยจิตเวช
ก็เหมือนเอาหนังสือเรียนระดับมหาวิทยาลัย ไปให้เด็กประถมอ่าน
ถึงแม้ว่า ผู้ป่วยจะสามารถดำรงชีวิตตามปกติก็ตาม
ทำการงานได้ดี ก็ไม่ได้แปลว่าจะรับอะไรเหล่านี้ได้

หลังจากนั้น
เราก็ได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นเภสัชกรในโรงพยาบาล
แน่นอน เค้าเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชระดับหนึ่ง
เค้าบอกว่า การทำสมาธิ ไม่ได้มีแค่การนั่งสมาธิ ยังมีอีกหลายแบบ
สามารถเลือกปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน
เช่น การถักนิตติ้งหรือโครเชท์ ก็สามารถเป็นการฝึกสมาธิได้เช่นกัน

วันนี้เราค้นพบการทำสมาธิของตัวเองแล้ว
นั่นก็คือการทำBlogนี่เอง ^_^

ตอนแรกกะจะทำในwordpress แต่ด้วยใช้ที่นี่มาร่วม 8 ปี ก็เลยคุ้นกว่า
ณ เวลานี้ ทำอะไรที่ง่ายๆน่าจะรวบรวมสมาธิได้มากกว่า
แต่ทั้งๆที่คุ้น ทำBlogที่นี่มาตั้งหลายครั้งแล้ว
กว่าจะได้ URL กว่าจะได้เทมเพลตที่ถูกใจ ก็เพลียไป 2-3 วัน
โพสต์แรก ก้าวแรก เหลือเชื่อว่า เราใช้เวลานานมาก
ทั้งที่ปกติ เป็นคนเขียนอะไรได้เร็ว
แต่แค่ไม่กี่บรรทัดนั้น เราใช้เวลาเป็นวัน
โพสต์ถัดมา เริ่มรวบรวมสมาธิได้มากขึ้น
แต่อย่างที่เห็น ในบางช่วงก็ไม่สามารถพิมพ์อะไรยาวๆได้เลย
ยิ่งช่วงแรกเนี่ยะ เปิดเครื่องมาปุ๊บ กว่าจะทำได้
ต้องเงียบ ต้องไม่มีเสียงรบกวน ไม่งั้นแป๊บเดียวต้องหยุด
ตอนนี้ดีขึ้นขนาดที่ว่า พิมพ์ไปด้วยเปิดเพลงฟังไปด้วย
ก็ไม่เสียสมาธิแล้ว

ในที่สุดเราก็ค้นพบวิธีทำสมาธิในรูปแบบของเรา
และยังอิ่มใจกับความสุข
ที่Blogของเราอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอีกด้วย
^_^



+ + + + + + + + +

อ่านต่อ   ทรงๆทรุดๆ


ขยะใต้พรม

ตั้งแต่ป่วย เราเก็บคำพูดไม่ค่อยได้
อย่างเมื่อก่อน มีอะไรที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง
ก็จะเลี่ยงๆไม่พูด เก็บ กลืน มันลงไป
เหมือนว่าไม่มีอะไร แต่จริงๆแล้ว คือ ซุกขยะไว้ใต้พรม
มันไม่ได้หายไปไหน ซ่อนไว้
แต่ตอนนี้ ถ้าเจออะไร เราสวนกลับไวมาก
เป็นอารมณ์แบบไม่ทนอะไรอีกแล้ว

มิหนำซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ซักพักใหญ่ คือ การขว้างของ
(อันนี้เราเล่าให้คุณหมอฟังในการไปพบครั้งที่ 3)

ต้องขอเกริ่นก่อนว่า
เมื่อก่อน เราไม่ชอบคนที่โมโหแล้วขว้างของ ทำลายของเลย
และไม่เข้าใจด้วยว่า ทำไปทำไม เสียดายของ
กว่าจะทำงานหาเงินซื้อมาได้ แล้วไปทำลายมันทำไม

แต่พอถึงจุดนี้ เรารู้เลยว่า มันไม่ไหวแล้วจริงๆ
เหมือนลูกโป่งที่อัดลมเข้าไปแน่นจนระเบิด
อาการนี้ เริ่มมาราวปีที่แล้ว (2554)
ที่น่ากลัวคือ อะไรอยู่ใกล้มือ เราคว้าได้ทันที
เราขว้างถ้วยกาแฟแตกละเอียดมากับมือ
ไม่พอ ถ้าทะเลาะกับแฟน เราเคยหยิบของใกล้มือมาฟาดได้ทันที
ด้วยความกดดันลึกๆที่ไม่เคยเคลีย
เป็นความรู้สึกเจือปนอะไรหลายๆอย่าง
เหมือน แค้น โกรธ เสียใจ ปะปนกันไป

เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เราอยากเล่า
เรากับแฟน กว่าจะมาถึงวันนี้ เรื่องราวไม่ได้สวยงามนัก
แต่ก็ฝ่าฟันอุปสรรคจนมาถึงวันนี้ได้

เหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาหลายอย่าง
มันยังติดอยู่ในใจเรา มันไม่เคยถูกเคลีย
เราก็บอกไม่ถูกว่าจะเคลียยังไง
เพราะถ้าเอ่ยปากขึ้นมา ก็จะทะเลาะกัน ก็เลยเลือกที่จะไม่พูด
แต่กลายเป็นว่าเรื่องมันไม่หายไป มันยังอยู่ในในลึกๆ
และยิ่งประจวบกับเหตุการณ์ แม่ของแฟนเรา เป็นมะเร็ง
ตรวจพบในระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งนับถอยหลังอย่างเดียว
สถานการณ์ตอนนั้น มันเป็นอะไรที่ลำบากมาก
ใครเคยมีญาติเป็นมะเร็งคงพอเข้าใจ

แต่ละวันที่ผ่านไปมันยาก กดดัน และเครียดมาก
ถ้าเราทะเลาะกับแฟนช่วงนี้ (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนคบกัน)
เราก็จะต้องยิ่งเก็บๆๆๆ เพราะต้องคิดอยู่เสมอว่าคนกำลังจะเสียแม่ไป

ที่เราคุ้นเคยกับรพ.รามาฯ เพราะแม่ของแฟนเราไปรักษาที่นี่
รวมทั้งสถาบันมะเร็งที่อยู่ติดกันด้วย
ระยะเวลา 10 เดือน ที่ทุกคนอยู่ในความเครียด
มันหนักหนาสาหัสมาก ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายเลยทีเดียว
แล้วแม่ของแฟนเราก็เสียไปกลางปีที่แล้ว (2554)

เหตุการณ์ที่คุ้ยขยะที่ซุกไว้ใต้พรมมันเกิดขึ้น
ไม่กี่วันหลังจากที่เราไปพบหมอครั้งที่ 2
เรื่องที่ทะเลาะขอไม่เล่า
แต่ ณ เวลานั้น เราคว้าอะไรได้ใกล้มือ เราคว้าทันที..
โชคดีที่มันเป็นผ้าห่มแบบผืนเล็กๆ
เราเอาผ้าฟาดใส่แฟนเรา ด้วยความอัดอั้น
ผ้ากวาดเอาข้าวของกระจุยกระจาย
เราพูดเรื่องต่างๆมากมาย ว่าแฟนเรา ในเรื่องที่ผ่านมา
ว่าไม่เคยฟังเราพูดเลย ไม่เคยสนใจว่าเราจะรู้สึกยังไง
พอเราพูด ก็หาว่าอย่างงั้นอย่างงี้ แถมมาว่าเรากลับอีก
ทั้งที่เราเป็นผู้ถูกกระทำ
เราระเบิดออกมา ร้องไห้ไปด้วย

คราวนี้แฟนเราใจเย็นขึ้นมาก ซึ่งปกติเค้าจะใจร้อนสุดๆ
อาจจะเพราะเห็นว่าเราป่วย
เห็นเราฝัน ละเมอ ทุรนทุรายกลางวันแสกๆกับตาตัวเอง

เราไปนั่งซุกตัวอยู่มุมนึง
เค้าเข้ามาจับมือ แล้วบอกว่า..
เอางี้นะ ให้เราพูดมาให้หมด จะด่าจะว่า
จะพูดเรื่องอะไร รู้สึกยังไง เค้าจะฟัง ไม่เถียง ไม่ย้อน ไม่แก้ตัวอะไร
จะฟังเราพูดจนจบ..
เราร้องไห้แล้วบอกว่า พูดถึงพรุ่งนี้ก็ไม่รู้จะหมดรึปล่าว
เค้าบอก ไม่เป็นไร พูดมาให้หมด

เราพูดไปร้องไห้ไป เป็นสิบๆเรื่อง
บอกเล่าแต่ละเหตุการณ์ว่าเราทุกข์ทรมานขนาดไหน
บางช่วงแค้นขนาดไหน เจ็บปวดยังไง
หรือเรื่องที่เค้าคิดว่าเราไม่รู้มากมาย
แต่เรารู้เราเห็น รู้มั๊ยว่ามันเป็นยังไง
เราพูดๆๆ พูดไป นานเท่าไหร่ เราจำไม่ได้
พูดจนเหนื่อย แทบไม่มีแรงพูดต่อไปอีก

ต่างคนต่างเงียบ
เราเหนื่อย แฟนเราขยับไปนั่งพิงฝาท่าทางหมดแรงเช่นกัน

แล้วแฟนเราก็ถามเราว่า เค้าทำอะไรดีๆให้เราบ้าง
เราเหนื่อยมาก ก็ตอบไปไม่กี่ประโยค
บอกว่า เค้าก็ดูแลเราตอนเราไม่สบาย ซื้อข้าวมาให้เรากิน - -'
แฟนเราถามว่า แค่นี้เองเหรอ
เราเหนื่อยมาก จนไม่รู้จะพูดอะไรต่ออีก

แล้วเรื่องนี้ก็ผ่านไป...................
แปลกมาก ที่เรารู้สึกโล่ง เหมือนไม่มีอะไรติดค้างอีกต่อไปในเรื่องที่พูดไป
จริงๆแล้ว เรื่องไหนที่เป็นความผิด เราอภัยให้ไปนานแล้ว
แต่มันยังมีอะไรติดค้าง ตรงที่เราไม่เคยได้พูด
เพราะพูดไปก็มีแต่จะทะเลาะกัน แฟนเราก็จะพูดให้ดูปัจจุบัน
ทำให้เราไม่ได้พูดอะไรเลย ว่าเรารู้สึกยังไง

เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่า
บางครั้งการขอโทษ แล้วปล่อยให้มันผ่านไป
ไม่ต้องพูดถึงมัน ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
การเผชิญหน้ากับมันต่างหาก มันถึงจะจบได้จริงๆ
แน่นอน ไม่มีใครอยากฟังความผิดของตัวเอง
อยากจะแก้ไข ด้วยการทำปัจจุบันให้ดีขึ้น มันก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ
แต่ต้องช่วยบรรเทาความรู้สึกของอีกคนด้วย

หลังเหตุการณ์นี้ เหลือเชื่อมาก
เรื่องบางเรื่องเราลืมไปเลย
ทั้งเรื่องที่ติดค้างอยู่หลายปี เรื่องที่จำฝังใจ
เรื่องที่เคยเจ็บปวดแสนสาหัสขนาดไหน
บางเรื่องรู้สึกเหมือนมันไม่ได้เกิดขึ้น
บางเรื่องก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรอีก แม้จะจำมันได้

เราเล่าเรื่องนี้ให้คุณหมอของเราฟังในการพบกันครั้งที่3
คุณหมอวิเคราะห์ออกมาได้จับใจและตรงใจเรามาก

เอาไว้อ่านต่อ ในโพสที่เราไปพบคุณหมอครั้งหน้านะคะ


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->  ฝึกสมาธิ(ไม่ได้)


28 มีนาคม 2555

ไม่เข้าใจเหมือนกัน


เราพบคุณหมอตามนัด เมื่อศุกร์ที่ 10 กุมภา
คุณหมอนัดอีกครั้ง พฤหัสที่ 1 มีนา
เพราะเดือนมีนา คุณหมอลงตรวจเฉพาะวันพฤหัส

เวลา 19 วัน ก็มีอะไรมากมายไม่ซ้ำแบบกันเลยค่ะ

ถัดจากวันที่ไปพบคุณหมอ
เป็นวันแรกตั้งแต่ไปรักษาตัว..ที่เราขับรถไกล
จริงๆคือ ไม่ถึง 20 กิโลเมตร แต่ก็ไกลมากแล้วสำหรับภาวะแบบนี้

เราขับรถไปหาเพื่อนรุ่นพี่ ที่เป็นเพื่อนสนิท
พี่เค้าทำงานครึ่งวันในวันเสาร์
เราไปรับที่ออฟฟิต เพื่อไปนั่งร้านกาแฟกัน
เม้าส์มอยกันตามประสาผู้หญิง

เราชอบนั่งร้านกาแฟมาก เป็นกิจกรรมที่ทำประจำ
แต่ครั้งนี้..เป็นครั้งแรกตั้งแต่ป่วยที่ได้ไปนั่งร้านกาแฟ
รวมทั้งได้เจอพี่เค้าด้วย
ตลอดมา ใช้วิธีการคุยกันทางตัวหนังสือ อธิบายว่าเป็นอะไร
ขนาดคุยโทรศัพท์ยังคุยไม่ได้

เราคิดว่า ถ้าเจอพี่เค้า จากภาวะที่เราเป็น
เราคงร้องไห้กลางร้านกาแฟแน่ๆ
แต่เปล่าเลย..
เรานั่งคุยกันอย่างมีความสุข เล่าเรื่องที่ป่วยให้ฟัง
จากปากตัวเองจริงๆซะที เล่าว่าไปโรงพยาบาลเป็นยังไง
อาการเป็นยังไง รู้สึกยังไง คุณหมอพูดอะไรบ้าง
คุยกันหลายเรื่อง หัวเราะกันไป ดื่มกาแฟกันไป

ความรู้สึกดีๆหลายอย่างเริ่มกลับมา
เพราะตลอดเวลาที่ป่วย เรามีปัญหาการคุยกับคนอื่นมาก

ป่วยปุ๊บ เราแบ่งคนเป็น 3 ประเภททันที ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน

1.คนสนิทมาก ก็คือ แฟนเรา และ เพื่อนรุ่นพี่คนนี้ เราจะคุยได้มากมาย

2.คนไม่รู้จัก เช่น ลูกค้าของเรา คนขายของทั่วไปที่เราไปซื้อ
รวมทั้งคนแปลกหน้าที่เจอ เราจะคุยได้เยอะมาก

3.คนรู้จัก แต่ไม่สนิท .. อันนี้น่ากลัวมาก
เพราะเรายกคนทั้งหมดนอกเหนือจากข้างบน มาไว้กลุ่มนี้หมดเลย
แม้แต่พ่อแม่และน้อง เราไม่อยากคุย คุยก็ฝืน
พยายามๆเลี่ยงทุกคน ถ้าจำเป็นต้องคุยก็จะไม่แฮปปี้เลย
เราไม่คุยกับน้อง ไม่รับโทรศัพท์พ่อแม่เราเอง ไม่อยากคุยอะไร
ไม่ยอมไปบ้านแฟน เพราะต้องเจอพ่อและพี่สาวเค้า
ทั้งที่เราเคยเข้านอกออกในได้สบาย ไม่เคยมีปัญหา
แต่พอเจอ..เราก็คุยไม่ออก ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ฝืนมากค่ะ

เราไม่รู้สาเหตุ และก็ลืมถามคุณหมอด้วยว่าเพราะอะไร

วันนั้น หลังออกจากร้านกาแฟแล้ว
เราขับรถไปร้านอาหารคนเดียว และสั่งอาหารมากินคนเดียว
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำมาร่วมเดือน

ตลอดเวลาตั้งแต่ไปหาหมอ
เราไม่กินข้าวเลย ถ้าแฟนเราไม่ซื้อมาให้ หรือ พาไปกิน
แม้แต่โทรศัพท์สั่งข้าวเราก็ไม่ทำ
หลายครั้งที่แฟนเรา ต้องออกมาจากออฟฟิต เพื่อซื้อข้าวมาให้
แล้วนั่งกินด้วยกัน เพราะรู้ว่า ไม่งั้น เราก็จะไม่กิน
เราไม่หิว ไม่อยากกิน ไม่อยากสั่งอาหาร
ทำให้เรากินข้าวแค่มื้อเดียว คือ มื้อเย็นที่แฟนเราจะมารับไปกิน
หรือซื้ออะไรมานั่งกินด้วยกันเท่านั้น

เราไม่ได้เรียกร้องความสนใจ แต่เราไม่หิวจริงๆ
และถึงหิว เราก็ไม่อยากสั่งอาหารจากร้านประจำที่เราเคยกิน
ซึ่งเราจัดอยู่ในคนกลุ่มที่3 ที่เรารู้จัก แต่ไม่อยากคุยด้วย

การที่เราได้แวะร้านอาหารคนเดียวในวันนั้น
สั่งอาหารมากินจนหมด และคุยกับเจ้าของร้าน(ร้านประจำ)
ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมากทีเดียว

ขออธิบายนิดนึง ว่า ก่อนหน้านี้ เราสามารถทำอะไรด้วยตัวคนเดียว
หลายอย่างที่คนอื่นไม่กล้าทำ เราก็ทำคนเดียวได้สบาย
เราไปเที่ยวคนเดียวบ่อยครั้ง
เราไปกินMKคนเดียว (ซึ่งไม่ค่อยมีคนกล้าทำ)
เราไปกินโออิชิ บุฟเฟ่ คนเดียวได้
พวกร้านบุฟเฟ่ที่คนอื่นไม่กล้าไปคนเดียว เราเฉยๆเลย
ไม่เห็นจะยากเย็นตรงไหน

แต่ป่วยปุ๊บ..เราทำไม่ได้ แม้กระทั่งโทรคุยกับคนรู้จัก

ซึ่ง..หลังจากนั้น เราได้หาข้อมูลจนไปพบคนที่ป่วยแบบเรา
(ทางinternet)
ข้อมูลจากสองคนที่เราได้พูดคุย ก็เป็นเหมือนเราเลย

คนแรก เป็นนักศึกษาปริญญาเอก เรียนอยู่ต่างประเทศ
ในที่สุดก็ต้องกลับมาเมืองไทย เรียนต่อไปไม่ได้
คนที่ไปเรียนต่างประเทศคนเดียว ย่อมทำอะไรเองได้สบายๆ
แต่เค้าเล่าว่า หลังจากป่วย..
แค่ไปซื้อของข้างบ้าน ต้องให้แม่พาไป เค้าไปเองคนเดียวไม่ได้

คนที่สอง ก็ต้องลาออกจากงาน มาอยู่บ้านเฉยๆ
จะไปไหน ก็ต้องพึ่งพาน้องสาว ไม่สามารถไปเองได้
ทั้งที่เมื่อก่อนก็มีชีวิตปกติ เป็นสาวออฟฟิตทั่วไป

เราไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้
แต่อยากขอให้เห็นใจคนที่ป่วย
เพราะช่วงแรกที่แฟนเราไม่เข้าใจ เราก็เจอปัญหา
เช่น คำถามว่าทำไมเราไม่ยอมไปบ้านเค้า
เรามีปัญหาอะไรกับที่บ้านเค้า โกรธ เกลียดใคร?
ซึ่งมันไม่ใช่เลย..
แต่กว่าที่เราจะอธิบายได้ มันกดดันมากจริงๆ
เพราะเราก็ไม่รู้เหตุผลเหมือนกัน



เราอยากขอให้คนอื่นเข้าใจคนที่ป่วยนะคะ
แต่เราก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง
เพราะคนที่ป่วย ก็ยังไม่เข้าใจตัวเองเลย ว่าเป็นอะไร


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->  ขยะใต้พรม

27 มีนาคม 2555

ทางเลือกอื่น..มีมั๊ย?


เชื่อว่าหลายคนต้องตั้งคำถามว่า ซึมเศร้า เนี่ยะ
มันมีวิธีรักษาทางอื่นมั๊ย นอกจากกินยา

เราก็เคยคิด..

เพื่อนที่รู้ว่าเราต้องกินยา ก็ถามแทบทุกคนว่า
มันไม่มีวิธีรักษาทางอื่นเหรอ
กินยาอะไร? มันน่ากลัวนะ! ไม่ต้องกินได้มั้ย?

เราว่าชื่อโรค(หรือภาวะก็เหอะ) ที่แปลเป็นภาษาไทย
มันไม่เคลียนะ
ซึม ก็ทำตัวให้สนุกสิ เศร้า เดี๋ยวก็หายเศร้า ร่าเริงเข้าไว้ สู้ๆไรงี้

มันไม่ใช่เลย..

คนที่ไปถึงมือหมอเนี่ยะ มันเลยขั้นนั้นไปแล้ว
มันไปถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตปกติ
เราช็อคนะที่ต้องกินยา
แต่เมื่อค่อยๆทบทวนดูแล้ว มันมีเหตุผลสมควร

ครั้งแรกที่พบคุณหมอ คุณหมอจะถามเรื่องงานอดิเรก(ประมาณนี้)
เช่น ชอบทำอะไร แล้วตอนนี้เป็นยังไง
คำถามนี้แหละ ที่สะกิดเตือนให้เรารู้ตัวเองว่า แย่แล้ว
ปกติ เราเป็นคนอ่านหนังสือ
หนังสือเล่มหนาๆ อ่านได้สบาย
แต่ที่สะกิดใจมากที่สุด คือ ปกติเราจะอ่านนิตยสารเยอะมาก
เดือนนึงเป็นสิบเล่ม แต่เราไม่ได้อ่านเลยมาราว2เดือนแล้ว
เราไม่ทันคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้าหมอไม่ถาม

เรามาย้อนคิด..นิตยสารเล่มโปรด วางอยู่ตรงหน้า
เราแค่หยิบมันมาพลิกๆ อ่านไม่ถึงหน้าก็วางบ้าง
ถ้าเป็นเมื่อก่อนเหรอ ไม่มีทาง เห็นปุ๊บคว้าปั๊บเลย
และจะไม่สนใจอย่างอื่น

สำหรับคนอื่น..อาจคิด แค่นี้ผิดปกติเหรอ
แต่สำหรับเรา เรารู้ทันที ว่าผิดปกติมากแล้วล่ะ

อีกเรื่องที่ผิดปกติ แต่เราเพิ่งสังเกตเห็น คือ การดูหนัง
ซึ่งเราชอบดูหนังที่บางครั้งมันต้องตีความ
หนังรางวัล หนังประหลาดๆ
ประเภทแปะรางวัล แล้วคนอื่นบอกไม่สนุก ดูยากจะตาย
เรายิ่งอยากดู
เราหมายรวมถึงแผ่นDVDด้วยนะ

เราเช่าหนังมาดูเรื่องนึง ก็เป็นหนังที่ไม่น่าดูยากเย็นอะไร
เกี่ยวกับตลาดเงินทุนในต่างประเทศ
และแน่นอน ถ้าหนังต่างประเทศ เราจะไม่ดูพากษ์ไทย
ยอมอ่านซับไตเติลเอา

แต่แล้ว.............
เราดูหนังไม่ได้ เราอ่านซับไม่ไหว มึน ปวดหัว
ไม่พอ เราดูได้ห้านาที ก็เสียสมาธิ
ทั้งที่เคยดูติดต่อกันได้ทั้งวัน
ครั้งนั้น เราใช้เวลากว่าสามวันถึงจะดูหนังเรื่องนี้จบ
มิหนำซ้ำ ยังต้องเปิดเสียงพากษ์ไทย

แค่นี้ก็เพียงพอ ที่จะทำให้เรารู้แล้วว่า
มันมีอะไรผิดปกติแล้วล่ะ

แล้วจะทำยังไง..
สะกดจิตเหมือนในหนัง?
ทำจิตบำบัดเหมือนในหนัง?
ที่นี่เมืองไทยนะ แค่เดินไปหาจิตแพทย์ก็ยุ่งยากกับชีวิตจะแย่แล้ว

เรามีทางเลือกอื่นเหรอ
นอกจาก..
วางใจในหมอ ให้เวลากับหมอ ให้เวลากับตัวเอง
และ กินยาตามที่หมอสั่ง

เพราะเราต้องการหายนี่นา


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->  ไม่เข้าใจเหมือนกัน


26 มีนาคม 2555

เก็บตก-จากครั้งที่2


โชคดีที่บันทึกสั้นๆไว้ เลยย้อนกลับไปดูได้

ขอเล่าต่อจากรับยา แล้วออกจากโรงพยาบาลก่อน
ปกติเราจะขับรถเอง แต่ช่วงเวลาแบบนี้ ทำให้เราไม่ได้ขับรถเลย
คือ ขับได้นะ แต่เรากลัวอุบัติเหตุ จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน
การขับขี่ยานพาหนะ เป็นความรับผิดชอบสูงอย่างนึง

เรานั่งรถปอ.ออกจากหน้าโรงพยาบาล
ไปลงที่ศูนย์การค้าแห่งนึง
แล้วเข้าไปห้องน้ำ ร้องไห้อยู่ราว 15 นาที
สะอึกสะอื้น ออกมาจากห้องน้ำตาบวมเลย
ร้องแบบไม่มีสาเหตุ คงร้องต่อเนื่องจากที่น้ำตาซึมต่อหน้าคุณหมอ

จริงๆเราเป็นคนที่ร้องไห้ง่ายมากนะ
แต่ช่วงหลังๆนี่ ดูเหมือนคนอดทน ร้องไห้ยากขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้าย เรารู้แล้วว่าเราไม่ใช่คนอดทน
แค่ไม่ร้องไห้ ไม่พูด ไม่แสดงออก ไม่ได้แปลว่า ทนได้

ตอนที่เล่าผลข้างเคียงของยาให้คุณหมอฟัง
ว่าเพื่อนที่เป็นเภสัชกร บอกให้กลับไปปรึกษาหมอเหอะ
แต่เราเลือกจะอดทน เพราะคิดว่า
จะรักษาโรค ก็ต้องอดทนกันบ้าง
คุณหมอหัวเราะเลย บอกว่า อดทนอีกแล้ว ^_^
แต่คุณหมอบอกว่า มันก็เป็นคุณสมบัติที่ดีนะ ความอดทนเนี่ยะ

คุณหมอถามข้อดีของเรา เรานั่งอึ้ง
คุณหมอยิ้ม แล้วพูดต่อว่า ถ้าให้บอกข้อเสีย จะบอกได้ทันทีใช่มั๊ย
แล้วคุณหมอก็บอกข้อดีของเรา เราจำได้ลางๆเท่านั้น
ว่า เป็นคนเมตตา และอะไรอีกนี่แหละ มันเลือนลางเพราะเบลอๆและเหนื่อย
ที่จำตรงนี้ได้ชัด ก็เพราะคุณหมอบอกว่า เรามีเมตตา

เมตตาคนอื่น ดูแลความรู้สึกคนอื่น
แต่ไม่เมตตาตัวเอง ไม่ดูแลความรู้สึกตัวเอง

อีกประโยคที่พอจำได้ คือ
ไม่ต้องพยายามเข้มแข็ง
บางครั้ง คนที่ยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอ นั่นแหละคนเข้มแข็ง

จริงๆครั้งนี้
นอกจากยาตัวเดิมแล้ว
คุณหมอให้ยาช่วยลดอาการคลื่นไส้มาให้
แต่เราถามเภสัชกรแล้ว ว่าถ้าไม่กินจะได้มั๊ย
คือ ถ้าจำเป็นต่อการรักษาเราจะกิน
แต่ถ้าไม่จำเป็น เราจะไม่กิน อะไรที่พอทน ก็จะทน
สรุปว่ายาที่ได้รับมาช่วยลดการคลื่นไส้ เรากินไปแค่เม็ดสองเม็ดเท่านั้น
เพราะมันก็ไม่ได้จะคลื่นไส้อะไรมากมายแล้ว

ก่อนออกจากห้องตรวจ
เราถามคุณหมอว่า เบื่อมั๊ยที่ต้องมาฟังอะไรแบบนี้ทุกวัน
คุณหมอบอก ก็ไม่ทุกวันนะ (คุณหมอไม่ได้ลงตรวจทุกวัน)

แต่ที่ประทับใจ คือ คุณหมอบอกว่า
คุณหมอตั้งใจมาทำตรงนี้

คนไข้ฟังก็ชื่นใจนะ จะตั้งใจรับการรักษาเหมือนกัน
^_^


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ --->  ทางเลือกอื่น..มีมั๊ย?



24 มีนาคม 2555

เมตตาตัวเอง คือ อะไร?


พบหน้าคุณหมอครั้งที่ 2 อย่างอ่อนระโหยโรยแรง
ทักทายกันคำสองคำ เราก็ถามคุณหมอเลย

" เป็นโรคซึมเศร้า ใช่มั๊ยคะ "

รอมานานแล้วหนิ รอมา 20 วัน เจอแล้วก็ถามเลย
คุณหมอยิ้ม..
แล้วบอกว่า ไม่ถึงกับเป็นโรคครับ เป็นภาวะซึมเศร้า

งง..
อะไร ยังไง แตกต่างตรงไหนเหรอ โรค กับ ภาวะ
ฟังดูดีนะ หรือ คุณหมอปลอบใจ หรือ คุณหมอโกหก
ไม่หรอก..หมอต้องมีจรรยาแพทย์สิ จะโกหกทำไม
นั่งสับสน..

แล้วไอซึมเศร้ามันมีกี่Stageเหรอ
เอาอะไรมาวัด ???????

วันนี้เราไม่ค่อยพูดกับคุณหมอของเราเท่าไหร่
มันเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ

เราเล่าตามความจริงว่า เราเอาชื่อยาไปsearch
ก็เลยไม่ได้กินตั้งแต่คืนแรก แต่หลังจากนั้นก็กินทุกคืน
เล่าผลข้างเคียงของยา
เล่าเรื่องเราPrintข้อมูลเรื่องโรคซึมเศร้าใส่ซองให้แฟน
เพราะเค้าไม่รู้ว่าเรามาจิตเวช เราบอกแต่ว่าเป็นไมเกรนเลยมาหาหมอ
เรายื่นให้แฟน แล้วบอกว่า ที่ไปหาหมอวันก่อน ไม่ได้เป็นไมเกรนนะ
แล้วเราก็ไม่รู้จะหายเมื่อไหร่ และคงใช้ชีวิตต่อไปค่อนข้างลำบาก
ให้เอาไปอ่านดู ถ้าจะเลิกกัน เราก็ยินดี เพราะเราไม่อยากให้ใครลำบาก
ก็เล่าให้คุณหมอฟังแบบเหนื่อยๆ

คุณหมอก็นั่งฟัง แล้วก็ซักถาม ว่าทำไมทำแบบนั้น
อะไรประมาณนี้
เราก็ตอบไปแกนๆ ถามคำตอบคำ ไม่ได้เล่าแบบพรั่งพรู

แล้วเราก็ถามคุณหมอไปคำถามนึง
" คุณหมอคะ ฝันคืออะไร "
คุณหมอยิ้มตามสไตล์เดิม (อยากให้คนอ่านเห็นหน้าจัง ^_^ )
ถามเรากลับว่า " ฝันว่าอะไรครับ ? "

เราก็เล่าความฝันให้ฟัง
เราฝันว่า เราตะโกนพูดสุดเสียง ในสิ่งที่เราไม่เคยพูด
พูดๆๆๆๆใส่หน้าคน พูดไปร้องไห้ไป
แล้วเราก็พูดจริงๆ ละเมอนั่นแหละ
เพราะตอนนั้นเป็นช่วงบ่าย ที่อาการเราไม่ดีเลย
แฟนเราเลยออกจากออฟฟิตมาอยู่ดูแล
เค้าเป็นคนปลุก บอกว่าเราละเมอเสียงดัง
แล้วเราก็ตื่นมาร้องไห้ พูดไม่มีเสียง
ต้องขอน้ำกิน เหมือนในละคร ประมาณนั้นเลย

คุณหมอตอบยาว  แต่เราจำไม่ได้
จำได้แต่ว่า มันเป็นความต้องการของเรา

มันก็คงจริงแหละ เราทำในชีวิตจริงไม่ได้
เพราะถ้าทำ มันจะสร้างความขัดแย้ง
เราเลยต้องเก็บไว้

หลังจากนั้นคุณหมอก็ถามอีกหลายคำถาม
เราก็ถามคำตอบคำเหมือนเดิม

พอเราไม่พูดเหมือนคราวที่แล้ว
คราวนี้คุณหมอพูดเยอะเชียว -"-

มีประโยคนึง คุณหมอพูดว่า เราไม่เมตตาตัวเอง

อยู่ๆเราก็จะร้องไห้
พูดออกไปว่า " คุณหมอคะ อยากร้องไห้ "
ว่าแล้ว เราก็คว้าทิชชูบนโต๊ะเสร็จสรรพ
เอามาเช็ดน้ำตา
ตอนแรกนึกว่า จะร้องไห้มากมาย แต่เปล่าเลย
แค่น้ำตาเอ่อ ไม่ไหลมาด้วยซ้ำ
เรายังตกใจตัวเอง เพราะเราเป็นคนร้องไห้ง่ายมาก
วินาทีนั้น เรานึกขึ้นมาได้ทันที ว่าเราไม่ได้ร้องไห้มานานแล้ว

คุณหมอถามว่าดีขึ้นมั๊ย แต่เราไม่ได้ตอบว่าอะไร

แล้วก็ซักถามเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง
กำหนดวันนัดครั้งต่อไป

พอเราไปรับยา เราก็ได้ยาตัวเดิม
ตัวที่เราเอาไปsearchนั่นแหละ แต่ยาอีกตัวที่ทำให้หลับ ก็งดไป

วินาทีที่เห็นยาตัวเดิม
เรายอมรับกับตัวเองว่า..ซึมเศร้านั่นแหละ
ไม่ว่าคุณหมอจะเรียกว่าอะไรก็เถอะ
เรารู้ได้ทันทีว่า เราจะต้องกินยานี้ไปอีกนานทีเดียว

แล้วเราก็เดินออกจากโรงพยาบาลไปด้วยคำถามว่า
เมตตาตัวเอง คือ อะไร?


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ --->  เก็บตก-จากครั้งที่2



22 มีนาคม 2555

ครั้งที่2 กับแผนกจิตเวช


ศุกร์ ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555
วันนัดเป็นวันที่เราล้ามาก
เพราะ20วันที่ผ่านมา เป็นนู่นเป็นนี่ตลอด แถมนอนแทบไม่หลับทั้งคืน
อาจจะเพราะ
..วันนี้เป็นวันที่จะขอคำยืนยันจากหมอว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าใช่มั๊ย

บวกกับการเดินทางไปโรงพยาบาล ค่อนข้างไกล
ไม่ได้ไกลด้วยระยะทาง
แต่ทุกคนก็คงรู้ว่า ในกรุงเทพฯรถติดขนาดไหน
ระยะทางแค่ราว 20 กิโลเมตร อาจเหมือนเดินทางข้ามจังหวัดเลย

ถึงแม้จะออกแต่เช้า ก็ยังต้องลุ้นไปตลอดทาง
ว่าจะไปทันนัดรึปล่าว เครียดมาก

เพราะฉะนั้น ควรเลือกโรงพยาบาลใกล้บ้านมากกว่านะคะ
ไม่งั้นอาจจะท้อจนเลิกรักษา เพราะการเดินทางนี่แหละ
แต่เราชินกับรามาฯ สบายใจกับที่นี่มากกว่า
ก็ต้องอดทนฝ่าฟันรถติดต่อไป ^_^

ในที่สุดก็ไปถึงโรงพยาบาลตามเวลานัดเป๊ะ
ทั้งที่จริงๆแล้ว ในบัตรนัดตรวจ ระบุว่าควรมาก่อนเวลานัดครึ่งชั่วโมง

เราวิ่งขึ้นชั้น2 แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์
อย่างกับนักวิ่ง100เมตรเลยทีเดียว
ขึ้นไปถึงก็หอบแฮ่กๆ งงๆ เพราะไม่ได้เป็นผู้ป่วยใหม่แล้ว
ต้องทำยังไงต่อล่ะเนี่ยะ

จริงๆขั้นตอนก็คือ ต้องชั่งน้ำหนักให้เรียบร้อย
กรอกน้ำหนักตัวเอง ลงในบัตรนัดตรวจ
แล้วใส่ลงไปในกล่องช่องคนไข้นัด
นั่งพักซักครู่ใหญ่ๆ แล้วไปวัดความดันที่เครื่องวัดอัตโนมัติ
เพื่อเวลาคุณพยาบาลเรียก ก็เอาใบที่ระบุความดันไปให้

เราไม่รู้ ก็รีบหย่อนใส่กล่องเลย
แล้วเดินไปนั่งพัก โดยยังหอบแฮ่กๆอยู่เลย
ไม่ถึง5นาที คุณพยาบาลเรียกไปถามน้ำหนัก เพราะเราไม่ได้กรอก
รีบชั่งแทบไม่ทัน แล้วต้องรีบไปเข้าคิววัดความดันต่ออีก
วัดทั้งที่เหนื่อยๆแบบนั้นเลย



ปกติ วัดทีไร ไม่เคยเจอเลขหลักร้อย
เพราะเป็นคนความดันต่ำ
เวลาไปหาหมอ จะโดนจับวัดใหม่2-3ครั้งตลอด -"-

จะไปนั่งพักซักหน่อย คุณพยาบาลเรียกไปรอหน้าห้องตรวจ
เพราะเราเป็นคิวแรกเลย
หย่อนก้นนั่งปุ๊บ คุณหมอก็เรียก -"-
ปิดมือถือกันแทบไม่ทันเลยทีเดียว

เดี๋ยวไปต่อโพสต์หน้าละกันนะคะ
ว่าพบคุณหมอแล้วจะเป็นยังไง
^_^


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ คลิกที่นี่ --->  เมตตาตัวเอง คือ อะไร?

21 มีนาคม 2555

อดทนๆๆๆๆๆ


ราว 20 วัน ที่ต้องอดทนกับผลข้างเคียงของยา
รวมทั้งอาการที่เป็นก็ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น
จิตใจย่ำแย่มากๆ

แต่ด้วยความที่อ่านเยอะ
เจอข้อมูลว่า ยาประเภทนี้อาจต้องใช้เวลาซักนิด
ก็เลยพยายามอดทน

แก้ปัญหาต่างๆไปแต่ละวัน

คลื่นไส้ ก็ต้องหาอะไรเปรี้ยวๆติดไว้ อย่าง พวกบ๊วย
จนหลังๆพอดีขึ้น ก็พยายามไม่กิน

เวียนหัว ก็ต้องมียาดมติดไว้ตลอด กลายเป็นคนติดยาดมไปเลย

ปวดหัว ก็ทน ถ้าทนไม่ไหวก็นอน
พยายามไม่กินยาแก้ปวด นอกจากไม่ไหวจริงๆ
เพราะอยากให้รู้ว่ามันปวดนะ มันยังไม่หาย

ตาพร่า ดีขึ้นในเวลาไม่กี่วัน ก็เลยไม่มีปัญหาอะไร

ปากแห้ง ก็โบก Petroleum Jelly ตลอดเวลา ขาดไม่ได้เลย

แต่มันจะมึนๆ งงๆ บางครั้งก็ลืม
เช่น ลืมว่ากินยาไปแล้วรึยัง ทำให้จิตตกมาก
เลยใช้วิธีเอาปากกาเขียนCDมานั่งไล่เขียนวันที่บนแผงยาเลย
ก็เลยจบปัญหาเรื่อง กลัวจะกินยาซ้ำ

เบื่ออาหาร กินข้าวแค่วันละมื้อ
ก็พยายามกินของที่ชอบมากๆ จะกินได้เยอะหน่อย

ที่ในชีวิตนี้ไม่คิดว่าจะเจอเลย คือ กัดฟัน
ไม่ใช่กัดฟันตอนนอนนะคะ
กัดฟันตอนตื่นนี่แหละ เรียกว่าเผลอไม่ได้ จะกัดฟันตลอด
กว่าจะรู้สึกว่ากัดฟัน ก็เมื่อยหน้า เมื่อยกรามไปหมด แย่มาก

เราพยายามอดทนมาก เพราะเคยอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมะเร็ง
ซึ่งการรักษาค่อนข้างทุกข์ทรมาน
เราเคยอ่าน เคยรับรู้ เคยปลอบคนอื่นยังไง
ก็พยายามทำอย่างนั้นกับตัวเอง
พยายามอดทนให้ถึงวันนัด เรียกว่านับถอยหลังกันเลย

อาการหลายอย่างเริ่มดีขึ้น ยกเว้น กัดฟัน กับ ปวดหัว
ซึ่งปวดหัวเนี่ยะ มันปวดแทบตลอดเวลา
คุยกับเพื่อนที่เป็นเภสัชกร ก็ได้รับคำแนะนำว่า อย่าทนเลย
ถ้าปวดขนาดนี้ กลับไปหาหมอเถอะ
แต่เราก็ทนต่อ

จนในที่สุด6-7วัน ก่อนถึงวันนัด อาการปวดหัวก็หาย

แต่มีปัญหาใหม่ คือ เราฝันร้าย ละเมอ
ในฝันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถพูดได้ในชีวิตจริงๆ
ในฝันเราตะโกนพูดสิ่งนั้นจนสุดเสียง ร้องไห้ สะอึกสะอื้น
ตื่นมาด้วยน้ำตา และไม่มีเสียงเลย

การตัดสินใจ การคิด ช้าลงมาก
คิดไม่ค่อยทัน อย่างเรื่องถนัดๆที่เคยคิดเร็ว
ก็ต้องค่อยๆคิด ค่อยๆทบทวน

เริ่มนอยด์อีกครั้ง อารมณ์ก็แย่ อะไรๆก็แย่
ดีแค่ ไม่คลื่นไส้ เวียนหัว มากมาย หายปวดหัว หายตาพร่า
อาการทางกายภาพ หายไปค่อนข้างเยอะ
แต่จิตใจแย่มากๆ

นอนดึกขึ้นเรื่อยๆอีกครั้ง
จนถึงคืนก่อนหมอนัด ถึงขั้นนอนแทบไม่หลับเลย
ไปโรงพยาบาลในสภาพแย่มากจริงๆ


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->  ครั้งที่2 กับแผนกจิตเวช



20 มีนาคม 2555

3-4วันแรก..ที่กินยา


คืนถัดมา ก็ต้องกินยา เพราะจำนนด้วยเหตุผล

แล้วก็เจอกับนรกบนดินชัดๆ
ไหนจะอาการที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งแย่เต็มที่แล้ว
ไหนจะผลข้างเคียงของยา
ไหนจะทำท่าว่าอาจติดหวัดมาจากโรงพยาบาล
ร่างกายอ่อนแอเต็มที่เลย

ตื่นขึ้นมาพุ่งเข้าห้องน้ำ คลื่นไส้ประหนึ่งคนท้องในละคร
แต่ไม่มีอะไรออกมาเลย
แทบจะเกาะโถส้วมนอนตรงนั้น

ตามด้วยเวียนหัวสุดๆ จะยืนจะเดิน เวียนหัวไปหมด
แล้วต่อด้วย ปวดหัวแทบระเบิด ปวดจนทำอะไรไม่ได้เลย
ปวดปุ๊บ ต้องนอนอย่างเดียว
เรียกว่าใช้ชีวิตอยู่บนที่นอน กับ ห้องน้ำ แค่นั้น
ไม่หิว ไม่อยากกินอะไรทั้งนั้น
ปากแห้ง ลอกเป็นแผ่นๆเลย

นั่งๆนอนๆบนที่นอน เดี๋ยวก็หลับไป เดี๋ยวก็ตื่น แล้วก็หลับอีก
วนเวียนอยู่แบบนั้น อะไรก็ไม่เอาแล้ว
ทีวีไม่ดู Netbookวางอยู่ตรงหน้า ก็ไม่เปิด ไม่อยากจับเมาส์
โชคยังดีที่มี Tablet จอ 7" พอให้อ่านนู่นนี่แก้เครียด
เพราะมันไม่ใหญ่เกินไป และไม่เล็กเหมือนโทรศัพท์จนอ่านยาก

จนวันที่ 3 เกิดอีกอาการคือ ตาพร่ามัว
มองตัวหนังสือใน Tablet ไม่ได้ เหมือนมันโฟกัสไม่ได้
ใจเสียมาก..เพราะเป็นคนสายตาดีก็ว่าได้
ตั้งแต่เด็กจนโต วัดกี่ครั้งก็ปกติ
รีบหาข้อมูลทั้งที่ตาพร่า
ได้ความว่า มันจะเป็นชั่วคราว อย่าตกใจ ไม่ต้องไปวัดสายตาแต่อย่างใด
ก็โล่งใจไปเปราะนึง..เป็นอยู่ 2 วันก็หาย

อาการคลื่นไส้ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่เวียนหัวยังอยู่ จะลุกยืนเดิน ต้องตั้งสติ ไม่ลุกพรวดพราด

ที่หนักที่สุดคือ อาการปวดหัว มันแย่มาก
มันปวดแทบตลอดเวลาที่ไม่หลับ
ก็เลยพยายามจะหลับตลอดเวลา จะได้ไม่ปวด
ทุกข์ทรมาน เหมือนตกนรกก็ไม่ปาน
(ก็ไม่รู้หรอกว่านรกเป็นยังไง)

ไหนจะกังวลว่า ตกลงเราเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่า
ต้องรออีกหลายวัน จะถึงวันนัด

เรียกว่า อยากนอนแล้วตื่นอีกครั้ง วันหมอนัดเลยได้ยิ่งดี


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ --->  อดทนๆๆๆๆๆ




08 มีนาคม 2555

ช็อค(เล็กๆ)


ได้ยามา 2 อย่าง สำหรับการไปหาหมอครั้งแรก
ขอไม่กล่าวถึงชื่อยานะคะ
เพราะยาแต่ละตัวก็เหมาะกับแต่ละคน ซึ่งคุณหมอจะพิจารณาเอง

ยาที่คุณหมอให้มานั้น ระบุว่าให้กินก่อนนอนทั้ง 2 ตัวเลย
เรากลับถึงบ้าน ก็เอาชื่อยาไปเช็คทันที
ซึ่งทำเป็นประจำอยู่แล้ว เราไม่ยอมกินยาสุ่มสี่สุ่มห้าเด็ดขาด

แล้วก็ได้เรื่อง
ยาหนึ่งในนั้น ระบุชัดเจนว่า รักษาโรคซึมเศร้า

มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก อึ้งไป ช็อคเล็กๆ
ไม่ได้เกินความคาดหมายนัก ในเรื่องโรคซึมเศร้า

คือ จากอาการที่เป็น หรือแม้แต่
จากอาการที่ไม่รู้ตัวว่าเป็น แต่คุณหมอถาม
มันก็สะกิดให้เรารู้สึกว่า เป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่า
เราว่าถ้าเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ มันจะต้องผ่านตากับโรคพวกนี้มาบ้าง
มันไม่ได้ผิดคาดนัก

แต่การที่รู้ว่าตัวเองเป็น กับ การที่รู้ว่าตัวเองเป็นแล้วต้องกินยา
มันเป็นคนละความรู้สึกกันนะ

การที่รู้ว่าตัวเองเป็น แล้วต้องรักษาด้วยการกินยา
ความรู้สึกมันหนักอึ้ง
คือ มันจะไม่หายไปเองแน่ๆ ถ้าเราไม่รักษา และมันอาจจะเป็นมากขึ้น


พอตั้งสติยอมรับได้ ก็ค้นหาข้อมูลเรื่อง " โรคซึมเศร้า "
อ่านเยอะมากๆ อ่านร่วมสิบชั่วโมงเลย
ยิ่งเห็นข้อมูลมากมาย เช่น การกินยาต้องกินต่อเนื่องยาวนานพอสมควร
ผลข้างเคียง การกลับมาเป็นซ้ำ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่สยดสยองทั้งสิ้น

เกิดอาการลังเล และผ่านคืนนั้นไปโดยตัดสินใจยังไม่กินยาก่อน
จมกับข้อมูลมากมายตั้งแต่ บ่าย เย็น ค่ำ ของวันศุกร์ (วันที่ไปหาหมอ)
ต่อเนื่องมาถึงวันเสาร์เต็มวัน โดยไม่ทำอะไรเลย นอกจากอ่านๆๆๆ
แล้วในที่สุดก็ยอมรับเองว่า เราต้องกินยา และต้องกินอย่างเคร่งครัด
เป็นการยอมรับด้วยจำนนต่อข้อมูล

ความรู้สึกที่ล้นทะลักออกมา คือ
อยากกลับไปถามหมอว่า เราเป็นโรคซึมเศร้า ใช่รึเปล่า
ซึ่งต้องรอไปอีก 20 วัน
เป็น 20 วันที่เลวร้ายที่สุด


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->  3-4วันแรก..ที่กินยา





07 มีนาคม 2555

และแล้วก็พบคุณหมอ


วินาทีแรกที่พบคุณหมอ เราเข้าใจว่าเป็นบุรุษพยาบาล -"- แป่ว!!
คืองี้ค่ะ ปกติจะมีพยาบาลมาเรียกเราให้เข้าไปพบคุณหมอใช่มั๊ยคะ
คุณหมอจะนั่งเฉยๆอยู่ในห้อง
ก็เราไม่เคยเห็นคุณหมอเดินไปเดินมาเอาแฟ้มไปส่งบ้าง ออกมาเรียกคนไข้เองบ้าง

เดินตามเข้าไปในห้องตรวจ ก็พบว่าก็เหมือนห้องตรวจทั่วไป
มีโต๊ะ เก้าอี้คุณหมอ เก้าอี้คนไข้ เตียง ตามปกติ
พอคุณหมอไปนั่งที่เก้าอี้ เราก็เหวอ..
" อ้าว หมอเหรอ ? "

คุณหมอแนะนำตัวก่อนเลย งงสิ ไม่เคยเจออะไรแบบนี้
แล้วทักเราว่าดูกังวลๆ หรืออะไรซักอย่างเนี่ยะแหละ
จริงๆคือ เรางงมากกว่านะ
ทุกอย่างมันผิดธรรมเนียมที่เราเคยเจอมาต่างหาก

หลังจากนั้นก็คุยทั่วๆไป ประวัติ เป็นใครมาจากไหน ทำงานอะไร
หลังจากนั้นมันก็ไหลไปเรื่อยๆได้ยังไง ก็ไม่รู้
รู้แต่ช่วงหลังเราคุยอยู่เรื่องเดียว จนตัวเองแปลกใจ
แล้วก็มีการทดสอบอะไรเล็กๆน้อยๆ พวกความจำอะไรแบบนี้
ที่เครียดจนอยากกรี๊ดคือ ลบเลข คิดนาน ปั่นป่วนไปหมด
คุณหมอเขียนใบสั่งยา และกำหนดนัดครั้งหน้า
อธิบายเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา และบอกว่าถ้าไม่ไหวให้กลับมาพบหมอได้
ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

คุณหมอก็ดูเฟรนลี่ดี เรารู้สึกถึงความตั้งใจของคุณหมอ
ในการพูดคุยซักถามอาการ
ที่ดีที่สุดในสามโลกคือ คุณหมอตั้งใจ "ฟัง" มากๆ

ตอนออกมาจากห้องตรวจ เราตกใจมาก
เราอยู่ในนั้นร่วมชั่วโมง
เป็นไปได้ยังไง ทำไมคุณหมอให้เวลาคนไข้นานขนาดนี้
เราเข้าใจว่า เป็นผู้ป่วยใหม่ คงใช้เวลานานหน่อย
แต่ร่วมชั่วโมงเนี่ยะ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างประหลาดซักหน่อยสำหรับเรา
เพราะเดี๋ยวนี้ หมอเค้าคำนวณค่าเสียเวลากันเป็นนาทีนะ

ตามความเข้าใจของเรา ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์แบบนี้
คุณหมอที่มาตรวจเรา น่าจะเป็นคุณหมอที่มาต่อเฉพาะทางจิตเวชศาสตร์
ดูจากการประเมินอายุคุณหมอนะคะ อาจจะผิดก็ได้
แต่เราไม่สนใจเรื่องที่ว่า จะต้องตรวจกับอาจารย์หมออะไรแบบนี้อยู่แล้ว
ยิ่งได้เข้าไปรักษาที่แผนกจิตเวชแล้ว เรารู้ทันทีว่า
ความสัมพันธ์ของคนไข้กับหมอ สำคัญมาก
คนไข้ต้องมีความไว้วางใจ เชื่อมั่น เชื่อใจ ในหมอที่จะรักษา
ถ้าเคมีไม่เข้ากัน รับรองจบข่าวแน่ๆ

สำหรับเรา เราโอเคกับคุณหมอของเรา
ไม่ว่าจะเป็นเพศ วัย บุคลิก ท่าทาง การพูดจา
ทำให้เรายอมรับ เปิดใจ และ พร้อมที่จะรักษานะ

อ่อ คงรู้แล้วว่าคุณหมอของเราเป็นผู้ชาย



+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->  ช็อค(เล็กๆ)



วันแรกที่แผนกจิตเวช

ศุกร์ ที่ 20 มกราคม 2555
ไปโรงพยาบาลรามาฯแบบไม่หวังอะไรมาก เพราะไม่รู้จะได้ตรวจรึเปล่า
ทำประวัติคนไข้ใหม่ จนท.ถามว่าเป็นอะไรมา
ไม่รู้จะตอบอะไร ก็เลยบอกไปว่า " ปวดหัวค่ะ ขอตรวจแผนกจิตเวชได้มั๊ยคะ "
จนท.ไม่ได้พูดอะไร ระหว่างรอแฟ้มเสร็จ เราก็นั่งลุ้น
คิดไปพลางว่า ถ้าเค้าส่งไปอายุรกรรม ก็ไม่เป็นไร 
เดี๋ยวคุยกับคุณหมอที่นั่นอีกที ให้ส่งต่อก็ได้ 
ซักพัก จนท.เรียก แล้วยื่นแฟ้มให้ไปติดต่อจิตเวช
เราถามทาง แอบดีใจ แล้วก็ตื่นเต้นนิดๆ 
รู้สึกเหมือนกำลังเข้าสู่ Wonderland  -"-

เข้าไปยื่นแฟ้มให้คุณพยาบาลแล้วไปนั่งรอ
ตอนนั้นยังไม่แปดโมงเช้า คนไม่เยอะเท่าไหร่ เก้าอี้ยังไม่เต็ม
มองไปรอบๆ ก็เหมือนแผนกอื่นทั่วๆไป ตื่นเต้นนิดหน่อย
พอนั่งไปซักพักก็รู้สึกเฉยๆ 
แอบคิดว่า เป็นคนไข้ใหม่แบบนี้ กว่าจะได้ตรวจคงเกือบเที่ยงชัวร์
แต่ไม่เป็นไร เตรียมอุปกรณ์ในการรอมาพร้อม 

อันนี้ นั่งถ่ายรูป บัตรประจำตัวคนไข้เล่นๆ 
เห่อบัตรใหม่ - -"



แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเลย 
กิจกรรมเยอะมาก แทบไม่ได้ขุดอะไรที่เตรียมไว้รอออกมาเลย

ไหนจะชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ตามปกติแล้ว 
ถูกเรียกไปทำแฟ้มประวัติอีกครั้ง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งใหม่เลย
เพิ่งรู้ว่า เค้าแยกแฟ้มประวัติจิตเวชออกมาต่างหาก 

ถ้าใครเคยไปรักษาที่รามาฯ คงจะจำแฟ้มสีเหลืองได้ 
แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยจิตเวช ก็จะทำแฟ้มเพิ่มขึ้นมาอีกแฟ้ม
รูปร่างหน้าตาก็คล้ายกัน แค่เป็นสีฟ้าๆเทาๆ
ซึ่งกว่าจะเสร็จ ต้องกรอกเอกสารเยอะมาก หลายหน้าเลย
ระบุทุกสิ่ง ละเอียดยิบ (แน่นอน มันจำเป็นต่อการรักษา)
เรากรอกจนเมื่อย
ซึ่งถ้าไม่พร้อมเขียน คุณพยาบาลจะถามแล้วกรอกให้นะคะ

ยังไม่จบ มีแบบสอบถามประเมินการฆ่าตัวตายอีก
เรายังกรอกไม่เสร็จเลย คุณพยาบาลก็ให้ไปนั่งรอด้านใน
บอกว่า เสร็จแล้วค่อยเอามาให้ก็ได้ 
กิจกรรมเยอะยิ่งกว่าโฆษณาเมืองไทยประกันชีวิตอีก

เราเข้าไปรอหน้าห้องด้านใน ซักพักก็เข้าไปพบคุณพยาบาลคนหนึ่ง
เข้าใจ ณ ตอนนั้นว่าเป็นพยาบาลมาซักถามทั่วไปก่อนพบแพทย์
ก็งงๆเล็กน้อย ประวัติก็กรอกละเอียดยิบแล้ว ยังมีสัมภาษณ์อีกเหรอนี่
(มาเข้าใจตอนหลังว่านี่คือ ขั้นตอนพบนักสังคมสงเคราะห์ของทางแผนกจิตเวช)

จนท.ที่คุยด้วย 
เป็นผู้หญิงวัยกลางคนท่าทางดีมาก ดูมีเมตตา 
เหมือนออร่าความเมตตาเปล่งประกายรอบตัวเลย
หน้ายิ้มตลอดเวลา แต่ไม่รู้สึกว่าเฟค 
คุยทั่วไป มีอาการอะไรมา กี่วันแล้ว 
ทำไมถึงมาที่นี่ ใครแนะนำมา เราก็บอกว่าเสริซจากinternet
ก่อนมารู้สึกยังไง ตัดสินใจยากมั๊ย เข้ามาแล้วรู้สึกยังไง 
ซึ่งเราก็คุยตามปกติ จึงได้รู้ว่า 
มีคนที่เข้ามาแล้ว ลังเลใจ กลับบ้านไปก่อนพบคุณหมอก็มาก 

หลังจากนั้นก็แนะนำข้อมูลทั่วไปของหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกจิตเวช
มีแผ่นพับให้ อธิบายว่า มีอาการแบบไหนควรมาตรวจ
ซึ่งจนท.บอกเราว่า ไม่ต้องรอจนมีอาการทางร่างกาย
แค่รู้สึกเครียดมากๆก็เดินเข้ามาได้แล้วนะคะ ที่นี่ยินดี 
เรารู้สึกประทับใจ รวมทั้งประหลาดใจด้วย ว่านี่โรงพยาบาลรัฐนะ
แต่เราได้รับบริการที่ดีมากเลยทีเดียว 
และมีคำแนะนำเรื่องการกินยา ว่าอย่าหยุดยาเอง
ถ้ามีผลข้างเคียงมาก ให้กลับมา ชี้เบอร์โทรให้ด้วย 
ว่ามีอะไรโทรเข้ามาสอบถามได้ ก็เป็นคำแนะนำทั่วๆไป 
ด้วยบุคลิกที่เย็นมากของจนท. ทำให้เรารู้สึกสบายๆ
จากนั้น ก็บอกให้รอข้างนอก ขอเขียนสรุปแป๊บนึง 
โอ้โห อะไรจะพิถีพิถันขนาดนั้น 

หลังจากนั้นมาที่เคาน์เตอร์ คุณพยาบาลถามหาแบบสอบถามการฆ่าตัวตาย
แหม..นึกว่าจะลืมซะแล้ว กะเนียนๆไม่กรอก -"- 
ก็เลยต้องนั่งกรอกตรงนั้นอีก T_T

ขอเอ่ยถึงพยาบาลประจำแผนกนี้นะคะ
เค้าคงคัดมาแหละ..
ปกติ เราจะเคยชินกับโรงพยาบาลรัฐ ว่าพยาบาลงานเยอะมาก
คนไข้เยอะ บรรยากาศวุ่นวายจะให้เค้ายิ้มแย้มแจ่มใส
เหมือนที่เราไปโรงพยาบาลเอกชนคงไม่ไหว
ทำให้เราไม่คาดหวังอะไรอยู่แล้ว 

แต่พยาบาลที่นี่ค่อนข้างดีเลยค่ะ 
พูดดี ยิ้มบ้าง ไม่ใช่พนักงานต้อนรับที่คอยยิ้มตลอด แบบนั้นเฟค
แต่ดูรวมๆแล้ว ทุกๆคนตั้งใจทำงานและระมัดระวังการสื่อสารกับผู้ป่วยพอสมควร
เราพอใจ และรู้สึกชื่นชม

และแล้วในพริบตาเราก็ไปนั่งรอหน้าห้องตรวจแล้ว ราว10โมงเท่านั้นเอง
ที่คิดไว้ว่าคงรอถึงเที่ยง ก็ไม่ใช่ 
ถือว่าเร็วมาก

พิมพ์มายาวเชียว
ยังไปไม่ถึงพบคุณหมอซักที ต้องยกไปโพสต์ถัดไป 
>_<


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->   และแล้วก็พบคุณหมอ

06 มีนาคม 2555

ที่ไหนล่ะ ?

เราเปิดGoogle ค้นหาด้วยคำว่า "จิตเวช"
ทำให้เรารู้ว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีคลินิกจิตเวชให้บริการอยู่
ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลเฉพาะทางเท่านั้น 

เบื้องต้นเราตัดสินใจว่าจะไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน เนื่องจากเดินทางสะดวก 
ซึ่งหลังจากเราได้รักษาแล้ว เรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก 
เพราะการรักษาโรคทางจิตเวช จะต้องรักษาต่อเนื่อง 
ถ้าอยู่ไกลเกินไป มีปัญหาเรื่องการเดินทาง 
สภาพจิตใจที่แย่อยู่แล้ว จะพาร่างกายไป ก็ลำบากพอดู 

ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เราตัดออกไปเลย 
ในเบื้องต้นไม่ใช่เพราะค่ารักษา (เรื่องนี้สำคัญทีเดียว เพราะรักษาต่อเนื่อง)
แต่เป็นเรื่องของประกัน เราห่วงเรื่องข้อมูลการรักษา
เพราะเคยป่วยจนต้องผ่าตัด 
ทางบริษัทประกันขอประวัติการรักษา ซึ่งเราก็ต้องเซ็นยินยอม 
ให้ดูประวัติได้ เพื่อผลประโยชน์ของการเคลมค่ารักษาพยาบาล

ความรู้สึกอุ่นใจก็เป็นเรื่องสำคัญมาก
ตลอดชีวิต..เราคุ้นกับโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์
(ไม่แน่ใจว่าเรียกถูกมั๊ยนะคะ) 
ไม่ว่าจะรักษาเอง หรือ พาครอบครัว เพื่อนฝูง คนรู้จักไป
เราไม่เคยเบื่อการที่มีนักศึกษาแพทย์มาซักถาม 
หลายคนอยากตรวจกับอาจารย์หมอเท่านั้น แต่เรากลับเฉยๆ
เรายังไงก็ได้ ไม่เรื่องมาก

โรงพยาบาลรามาธิบดี คือ โรงพยาบาลที่ผุดขึ้นมาในความคิด
เราไม่เคยเป็นผู้ป่วยที่นั่นเลย แต่เราคุ้นชินทุกอย่างในโรงพยาบาล
อะไรอยู่ตรงไหน เดินทางยังไง จอดรถตรงไหน อะไรอร่อย 
แทบจะหลับตาเดินได้ 
ถึงแม้ว่า คนจะเยอะจนน่าเบื่อขนาดไหน แต่ความอุ่นใจมันมีมากกว่า

เราจึงตัดสินใจไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาฯทันทีในวันรุ่งขึ้น
โดยไม่ได้โทรสอบถามอะไรใดๆเลย ไม่มีข้อมูลว่าจะต้องนัดก่อนหรือไม่
ออกเดินทางแต่เช้ามุ่งหน้าไปโรงพยาบาล
และทำใจว่า หากไม่ได้รักษา ก็ถือว่าไปทำประวัติคนไข้ก็แล้วกัน 
ออกจะคิดบวกเกินไปซักนิด แต่ในสถานการณ์ตอนนั้น
แค่คิดจะไปหาหมอได้ ก็ถือว่าดีมากแล้ว


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ --->  วันแรกที่แผนกจิตเวช

05 มีนาคม 2555

เหตุ

คงไม่มีใครอยู่ๆ ไม่เป็นอะไร แล้วบอกกับตัวเองว่า ชั้นต้องพบจิตแพทย์ !!
เราเองก็เหมือนกัน

ถ้าถาม ณ เวลานี้
เราพอจะทบทวนได้ว่า เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ราว 1 ปีเห็นจะได้

แต่ ณ วันที่คิดขึ้นมาได้ว่า ต้องพบจิตแพทย์มั๊ย? ที่ไหน? อย่างไร?
คือ มีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันราว 2 สัปดาห์ และอะไรต่างๆเริ่มแย่ลงทุกๆด้าน

เราเริ่มรู้สึกไม่ปกติ ทุกอย่างในชีวิตดูยากไปหมด
นอนยาก ตื่นยาก กินยาก อาบน้ำยังยากเลย
เรื่องเล็กๆกลับต้องใช้พลังชีวิตสูงมาก งานเริ่มมีปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ

อันนี้เราเล่าย้อน เราจึงมองเห็นปัญหาเป็นฉากๆ
แต่ตอนนั้น มองได้ไม่ขนาดนี้นะคะ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรเหมือนกัน
ทุกอย่างมันแย่ไปหมด

นอนไม่หลับถึงขนาดไปหลับเอาตี4 บางวันตี4ครึ่งเกือบตี5ไปเลย
ร่างกายอ่อนล้ามาก และถ้าได้นอนแล้ว ไม่อยากตื่น
อยากหลับไปตลอดเลย ไม่ตื่นเลยยิ่งดี
แต่..ไม่ได้คิดไกลไปถึงฆ่าตัวตายอะไรแบบนั้น
แค่อยากหลับ ไม่ต้องรับรู้ ไม่ต้องคิดอะไร

กิจกรรมที่เคยทำ เคยชอบ..มาตลอดชีวิต
อย่างการอ่านหนังสือ เราสามารถอ่านหนังสือหนาสามสี่ร้อยหน้าได้ในวันเดียว
กลายเป็นไม่อ่านเลย ไม่คิดอยากหยิบมาอ่าน
นิตยสารที่เคยชอบอ่านมาก อ่านเดือนนึงราวๆ10เล่ม
วางอยู่ตรงหน้าแทบไม่แตะ ถ้าเป็นเมื่อก่อนต่อให้หิวโซมา เห็นปุ๊บยังอ่านก่อนเลย
แล้วถ้าฝืนหยิบมาอ่าน ก็อ่านหน้าเดิมซ้ำไปมา
ทำให้ไม่อยากอ่านอีกเลย

จากคนชอบต้นไม้
เวลาช่วงเช้าซึ่งเราไม่ต้องออกไปฝ่ารถติดแบบคนอื่น
จะชงกาแฟร้อนมากินพลางรดน้ำต้นไม้พลาง ใส่ปุ๋ยบ้าง ตัดใบทิ้ง
แล้วยืนดูสวนเล็กๆของเรา ราว 15-20 นาทีทุกวัน
(เรามีร้านค้าเล็กๆ จึงไม่ต้องเข้างานตามเวลาเป๊ะๆ)
แต่กลายเป็นว่า..เรารดน้ำไปงั้นๆ แค่ไม่ให้มันตาย
ใบเหลือง ง่อยหงิก เราก็ปล่อย ปุ๋ยก็ไม่ใส่
ไม่มีความรู้สึกอยากชื่นชมต้นไม้อีกเลย

แย่ไปหมดทุกอย่าง


ช่วงนั้น ได้อ่านไม่กี่ประโยคของคนๆนึงที่เค้ามีปัญหาในชีวิต
เค้าตัดสินใจไปเข้าคอร์สอะไรซักอย่างที่เราไม่รู้รายละเอียดนัก
มันทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า เราต้องหาตัวช่วยแล้ว

ด้วยความโชคดี(รึเปล่า?) >_< ที่ดูหนังเยอะไปหน่อย
คงเห็นกันว่าในหนังฝรั่ง มีปัญหานิดหน่อยก็พบจิตแพทย์
แล้วในไทยล่ะ?
ภาพจิตแพทย์ในไทย เรานึกไม่ออกเลย
จะพอนึกได้ก็ คุณหมอที่มาตอบปัญหาในรายการทีวี - -"

เราจึงตั้งคำถามในinternetนี่แหละ
ว่าถ้าอยากพบจิตแพทย์ต้องทำยังไง ?
มีคนแนะนำว่า โรงพยาบาลทั่วไปจะมีแผนกจิตเวชนะ
ให้ลองโทรสอบถามโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อทำการนัดตรวจ

มันถึงเวลาที่เราต้องหาหมอแล้ว
ในตอนนั้น คิดว่าอย่างน้อยหมอคงจ่ายยานอนหลับแน่ๆ
ถ้าหลับได้เป็นปกติ อะไรๆอาจจะดีขึ้น
เพราะเรามองไม่เห็นทางอื่น

ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาค้นคำว่า
"จิตเวช"


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->  ที่ไหนล่ะ ?

03 มีนาคม 2555

ก้าวแรก


ก่อนอื่นขอบอกว่า..เราต้องรวบรวมสมาธิอย่างมาก เพื่อทำblogนี้ขึ้นมา
จากเดิม
เคยพิมพ์อะไรยาวหลายๆหน้าได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายามเลย
เคยอ่านหนังสือสามสี่ร้อยหน้าได้ในวันเดียว
ก็ทำไม่ได้..
พิมพ์ได้แค่2-3บรรทัด ตอนนี้ก็เริ่มยากแล้ว แต่จะพยายาม ^_^
ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาตัวเอง
การได้ทำอย่างที่เคยทำ ถึงแม้จะยาก .. ถ้ามันสำเร็จ คงช่วยให้ความรู้สึกดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เราไม่อยากให้ใครเป็นแบบนี้เลย
ก่อนเรื่องนี้มันจะเป็นเรื่องที่ผ่านเลยไปในชีวิต (ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่)
ก็อยากให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆบ้าง

เราทำblogนี้ขึ้นมา หลังจากเดินเข้าโรงพยาบาลด้วยตัวเอง ราวเดือนเศษ
ความจริง..อยากทำตั้งแต่2สัปดาห์แรก แต่..ไม่สามารถทำได้
อย่าว่าแต่จะเขียนอะไรยาวๆเลย
ลำพังแค่จะจดรายละเอียด ข้อสงสัย ที่จะไปถามหมอ..ยังทำไม่ได้

เราจะพยายามถ่ายทอดว่า เพราะอะไรเราถึงคิดว่าตัวเองควรพบจิตแพทย์
การตัดสินใจที่จะเดินเข้าไปในแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช
ความรู้สึกมากมายหลายอย่างที่ต้องรับการรักษา
ความทรมานจากภาวะที่เป็น รวมทั้งความทรมานจากผลข้างเคียงของยา
อาการ อารมณ์ ความรู้สึก .. ทุกๆอย่าง
เราจะพยายามถ่ายทอดมันออกมาให้เป็นตัวอักษรในblogนี้

นอกจากจะเป็นความพยายามส่วนตัวในการกลับมาเป็นตัวเองแล้ว
หวังว่าจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ

แต่..แน่นอน วันนี้เราเป็นผู้ป่วย
หากผู้ที่ได้เข้ามาอ่าน ต้องการความถูกต้อง แม่นยำในข้อมูลของโรค
..เราไม่สามารถให้ได้
แม้สิ่งที่เราถ่ายทอดออกไป เราก็ยังไม่แน่ใจในความรู้สึกตัวเองด้วยซ้ำ
หากข้อความวกวน หรือ ดูสับสน ก็แสดงว่าเราเป็นอย่างนั้นในช่วงนั้น
และ..เราก็กำลังพยายามอยู่

หากคุณต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช
แนะนำให้หาข้อมูลจากเอกสารทางการแพทย์โดยตรง

สำหรับคนป่วยเหมือนเรา หรือ คนสงสัยว่าตัวเองกำลังป่วย
ก็ขอให้เราได้เป็นกำลังใจเล็กๆน้อยๆให้
เมื่อเราบอกว่า เข้าใจ แปลว่า เราเข้าใจจริงๆ
เพราะเรากำลังเผชิญมันอยู่


+ + + + + + + + +

อ่านต่อ  --->   เหตุ